คำมูล-คำประสม-คำซ้อน-คำซ้ำ

คำมูล 
     คำดั้งเดิม เช่น กา เธอ วิ่ง วุ่น ไป มา
คำประสม
     คือการนำเอาคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปรวมเป็น 1 คำ เกิดความหมายใหม่ โดยมีเค้าความหมายเดิม คำประสมอาจทำหน้าที่เป็นคำชนิดต่างๆ ได้ ดังนี้
     คำนาม เช่น ดาวเรือง คนใช้ คนสวน รถไฟ รถราง หลังคา ลูกชิ้น ลูกน้ำ ปากน้ำ ดอกเบี้ย เข็มทิศ เงินเดือน ช่างปูน นักร้อง ต้นทุน ของเล่น แปรงสีฝัน ยาดับกลิ่น ท้องฟ้าจำลอง ผู้อำนวยการ
     คำสรรพนาม เช่น ทูลกระหม่อม หม่อมฉัน ข้าพระพุทธเจ้า
    คำกริยา เช่น กินใจ กันท่า ขัดคอ เข้าใจ ตัดบท ต่อว่า จัดการ ถ่ายรูป ถือหาง บอกบท เห็นใจ ปรับทุกข์ เรียงพิมพ์ เห็นใจ 
คำซ้อน
     เกิดจากการซ้อนคำ คำที่นำมาซ้อนกันมักจะมีความหมายใกล้เคียงกัน เหมือนกันหรือตรงข้ามกัน 
     ตัวอย่างคำซ้อนที่ความหมายเหมือนกัน เช่น จิตใจ ทรวงอก สูญหาย แบบแปลน มิตรสหาย อ้วนพี 
     ตัวอย่างคำซ้อนที่ความหมายคล้ายกัน เช่น วัวควาย เรือแพ ข้าวปลา หูตา ถ้วยชาม
     ตัวอย่างความหมายคำซ้อนที่ตรงข้ามกัน เช่น ซื้อขาย ได้เสีย สั้นยาว ชั่วดี ถี่ห่าง
คำซ้อนนั้นจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ ซ้อนเพื่อความหมายและซ้อนเพื่อเสียง
     1.คำซ้อนเพื่อความหมาย 
        -นำคำที่มีความหมายเหมือนกันมาซ้อนกัน เช่น จิตใจ บ้านเรือน
        -นำคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาซ้อนกัน เช่น เบื่อหน่าย ถ้วยชาม
       -นำคำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาซ้อนกัน เช่น ยากง่าย
     2.คำซ้อนเพื่อเสียง
        ประกอบด้วยคำตั้งแต่ 2 คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเสียงเดียวกันหรือมีเสียงสระคู่กัน เช่น รุ่งริ่ง ฟูมฟาย ฟื้นฟู ซักไซ้ ถากถาง ทอดถอน วุ่นวาย อึกอัก โยเย โวยวาย โครมคราม
     ส่วนคำซ้อนที่สร้างขึ้นเพื่อความไพเราะของเสียง จะเป็นลักษณะนำคำมูลสองคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกันมารวมกันเป็นหนึ่งคำ แต่จะมีความหมายตัวเดียวหรือความหมายไม่ได้อยู่ที่คำทั้งสองก็ได้ เช่น เซ่อซ่า เสียง /ซ/ เหมือนกัน แต่ความหมายอยู่ที่คำว่า "เซ่อ" เราใส่ซ่าเพื่อความไพเราะ
     หรือคำซ้อนเพื่อเสียงแบบความหมายไม่ได้อยู่ที่สองคำก็ได้ เช่น โลเล โผงผาง เก้งก้าง อุ้ยอ้าย
ความแตกต่างของคำประสมกับคำซ้อนมีดังนี้
คำประสม
     1.เป็นการนำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมารวมกันเพื่อสร้างคำใหม่ (ใช้เรียกสิ่งใหม่ๆ)
     2.สองคำนั้นความหมายต้องไม่เหมือน ไม่คล้าย และไม่ตรงข้ามกัน
     3.น้ำหนักของคำจะเด่นที่คำแรก (คำต้น)
คำซ้อน
     1.นำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมารวมกันเพื่อเน้นความหมายขยายาความ (ไม่ใช่สร้างคำใหม่)
     2.สองคำนั้นความหมายต้องเหมือนต้องคล้ายหรือต้องตรงข้ามกัน 
     3.น้ำหนักของคำเด่นพอๆ กัน
คำซ้ำ
    คือคำที่เหมือนกันทั้งเสียงและความหมาย เรียงกันอยู่โดยใช้ไม้ยมก (ๆ) แทนคำหลัง(เพราะขี้เกียจเขียนซ้ำ) คำซ้ำอาจคงความหมายเดิมของคำแรกหรืออาจมีน้ำหนักยิ่งขึ้นหรือเบาบางหรือแสดงจำนวนมากกว่าหนึ่ง แต่ไม่ใช่จะซ้ำกันง่ายๆ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย
๑.   คำที่ต้องเป็นคำซ้ำ  ส่วนมากเป็นคำวิเศษณ์   เช่น   หยิมๆ   หลัดๆ   ดิกๆ    ยองๆ
๒.  นำคำซ้อนมาแยกเป็นคำซ้ำ เช่น เจ็บไข้   เป็น   เจ็บๆ ไข้ๆ เลียบเคียง  เป็น  เลียบๆ เคียงๆ อิดเอื้อน  เป็น อิดๆ เอื้อนๆ
๓.  นำคำซ้ำมาประกอบเป็นคำซ้อน  เช่น     เปรี้ยวๆ เค็มๆ       นั่งๆ นอนๆ    เราๆ ท่านๆ
๔.  คำซ้ำมีความหมายผิดไปจากคำมูลเดิม แต่ยังคงมีเค้าของความหมายเดิม
๔.๑  บอกพหูพจน์  คำเดิมอาจเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ก็ได้  เมื่อเป็นคำซ้ำกลายเป็นพหูพจน์อย่างเดียว  เช่น เด็กๆ เล่นฟุตบอล  หนุ่มๆ มากับสาวๆ
๔.๒  บอกความไม่เจาะจง  การจำแนกเป็นพวก และความเป็นพหูพจน์ เช่นเชิญผู้ใหญ่ๆ ไปทางโน้น เด็กๆ มาทางนี้
๕.บอกความหมายใหม่ไม่เนื่องกับความหมายของคำมูลเดิมเช่น  พื้นๆ  (ธรรมดา)  กล้วยๆ  (ง่าย)  น้องๆ  (เกือบ, ใกล้, คล้าย)  อยู่ๆ ( เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว )  งูๆปลาๆ
๖.  คำที่ออกเสียงซ้ำกัน ไม่ใช่คำซ้ำเสมอไป  คำซ้ำจะต้องเป็นคำมูลที่ออกเสียงซ้ำกันแล้วเกิดคำใหม่ขึ้นและมีความหมายเปลี่ยนไป  คำซ้ำใช้ไม้ยมกแทนคำมูลหลังคำที่ออกเสียงซ้ำกันในบางกรณีเป็นคนละคำและอยู่ต่างประโยคกัน  ไม่จัดเป็นคำซ้ำและใช้ไม้ยมกแทนคำหลังไม่ได้  เช่น  เขาทำงานเป็นเป็นเพราะเธอสอนให้   เขาจะไปหาที่ที่สงบอ่านหนังสือ



ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติโดยย่อของ ซัลบาดอร์ ดาลี

หลักการใช้ Present Simple Tense เเบบ ง่ายๆ